อิฐมอญ VS อิฐมวลเบา

2470 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อาจเรียกได้ว่าเป็นคู่ปรับที่ถูกจับให้มาให้เปรียบเทียบกันอยู่เสมอ แต่จะเทียบกันสักกี่รอบก็ไม่มีวันจบครับ เนื่องด้วยอิฐทั้ง 2 ชนิดนี้ มีคุณสมบัติ ข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน

เมื่อมีคุณสมบัติที่ต่างกันจึงไม่สามารถเทียบได้ว่า อิฐชนิดไหนจะดีกว่า และไม่จำเป็นต้องมีผู้แพ้ ผู้ชนะ ไม่จำเป็นต้องเลือกชนิดใด ชนิดหนึ่งครับ เราสามารถหยิบข้อดีของแต่ละชนิด เพื่อนำมาใช้ร่วมกับบ้านของเราในแต่ละส่วนให้เหมาะสมที่สุดได้


รู้จักกับอิฐมอญ

ขอเกริ่นนำถึงอิฐมอญคร่าว ๆ ก่อนนะครับ อิฐมอญหรืออิฐแดง ทำจากดินเหนียวผสมแกลบเผา คนไทยผลิตมาตั้งแต่สมัยโบราณมีให้เห็นทั่วทุกภูมิภาค อิฐมอญมีความคงทนในการใช้งานสูงมากครับ จึงได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีต และเป็นที่คุ้นเคยกับช่างก่ออิฐทั่วไป

นอกจากนี้อิฐมอญยังมีคุณสมบัติทนต่อความชื้น มีความหนาแน่นสูง และราคาถูกกว่าอิฐมวลเบา ส่วนข้อเสียของอิฐมอญ คือน้ำหนักที่มากกว่าอิฐมวลเบา หากก่อผนังชั้นเดียวจะมีน้ำหนักประมาณ 130 กก./ ตร.ม. และหากก่อสองชั้นประมาณ 180 กก./ตร.ม. รวมทั้งอิฐมอญมีขนาดเล็ก จึงใช้เวลาก่อผนังค่อนข้างมาก เป็นผลให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น

อีกหนึ่งข้อเสียที่ไม่ควรมองข้าม คือเรื่องความร้อน อิฐมอญมีคุณสมบัติอมความร้อน สังเกตได้จากผนังที่โดนแดด หากนำมือไปสัมผัสจะรู้สึกร้อนในช่วงกลางวัน และหลังตะวันตกดินไปแล้ว ช่วงค่ำก็ยังร้อนอยู่ จนกว่าจะตกดึกถึงจะคลายความร้อนได้หมด

วิธีป้องกันความร้อนกรณีนำอิฐมอญมาใช้งาน นิยมก่อผนัง 2 ชั้นในด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศที่แสงแดดสาดส่องในช่วงกลางวัน การก่อ 2 ชั้นจะต้องเว้นช่องว่างระหว่างอิฐแต่ละชั้นอย่างน้อย 5 ซม. เพื่อให้เกิดช่องว่างมีอากาศถ่ายเท พร้อมกับทำช่องระบายความร้อนให้กับอิฐชั้นนอกเพื่อให้ความร้อนถ่ายเทออกจากตัวบ้าน ส่วนอิฐชั้นในไม่ได้ถูกความร้อนโดยตรง ภายในบ้านจึงเย็นกว่าการก่อชั้นเดียวมาก แต่ทั้งนี้เจ้าของบ้านต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น ในมุมมองของผู้เขียนเอง หากทำให้บ้านเย็นขึ้นได้ เมื่อมองระยะยาวแล้วนับว่าคุ้มมากครับ คุ้มทั้งกาย คุ้มทั้งใจ อยู่ภายในบ้านที่เย็นขึ้น อะไร ๆ ก็ย่อมดีขึ้นครับ
และช่วยประหยัดค่าไฟมากขึ้นอีกด้วย


รู้จักกับอิฐมวลเบา

อิฐมวลเบา หากเรียกให้ถูกต้องเรียกว่า "คอนกรีตมวลเบา" เนื่องด้วยคุณสมบัติหลักคือปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ คุณสมบัติเด่น ให้น้ำหนักที่เบากว่าอิฐมอญ ขนาดของอิฐได้มาตรฐาน ลดการสูญเสียได้ดี เหมาะอย่างยิ่งกับผนังบ้านที่ต้องการลดน้ำหนักของโครงสร้าง เพราะอิฐมวลเบามีน้ำหนักน้อยกว่าอิฐมอญ ประมาณ? 1 ใน 3 ของอิฐมอญเท่านั้น ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ผลิตอิฐมวลเบาจำนวนมาก แต่ละแบรนด์มีส่วนผสมและคุณภาพแตกต่างกัน แนะนำให้เลือกซื้อเฉพาะผู้จำหน่ายที่มี มอก. รองรับ หรือแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ

คุณสมบัติเด่นของอิฐมวลเบา นอกจากเรื่องน้ำหนักแล้ว ด้วยขนาดอิฐที่ใหญ่ ได้มาตรฐาน จึงช่วยให้กระบวนการก่ออิฐ เสร็จไวกว่าอิฐมอญมาก โดยช่างจะใช้ปูนก่อที่ผลิตมาเพื่ออิฐมวลเบาโดยเฉพาะ และเมื่อก่อเสร็จไวค่าแรงคนงานจึงลดลง ขนาดที่ได้มาตรฐานช่วยลดการสูญเสียของอิฐได้ดีกว่าอิฐมอญ

ส่วนคุณสมบัติด้านกันความร้อน และกันเสียง อิฐมวลเบาทำได้ดีกว่าอิฐมอญมาก (เมื่อเทียบกับกรณีก่ออิฐมอญชั้นเดียว) ส่วนข้อเสีย ด้วยลักษณะทางกายภาพของวัสดุที่มีรูพรุน ทำให้อิฐมวลเบาดูดซับน้ำ ซึ่งจะมีผลกับความชื้น การออกแบบจึงไม่นิยมใช้งานภายในห้องน้ำ ห้องครัว ส่วนการเจาะผนังเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้พุกที่ออกแบบมาเพื่ออิฐมวลเบาเท่านั้น ผู้เจาะควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด มิเช่นนั้นอาจทำให้อิฐมวลเบาเสียหายได้


สรุปแบบไหนดีกว่ากัน

อย่างที่แจ้งไปตอนต้นครับ อิฐทั้ง 2 ประเภทนี้ ดีคนละอย่างกัน หรือแม้หากอิฐไหนจะมีข้อเสียใด ก็สามารถแก้ไขได้ทุกจุด หากนำมาใช้งาน แนะนำเลือกใช้อิฐทั้ง 2 ประเภทร่วมกัน โดยแบ่งการใช้งาน ดังนี้

อิฐมอญ เลือกใช้ในบริเวณที่โดนความชื้นบ่อยครั้ง เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว หรือผนังส่วนที่โดนฝนสาดโดยตรง กรณีนำอิฐมอญมาใช้ร่วมกับผนังภายนอก จะเลือกก่ออิฐ 2 ชั้น เพราะจะช่วยป้องกันความร้อน ป้องกันเสียงได้ดีไม่ต่างไปจากอิฐมวลเบา และเลือกใช้อิฐมอญร่วมกับตำแหน่งที่ต้องรับน้ำหนักมาก อาทิ อ่างล้างหน้า ท็อปโต๊ะ หรืองานผนังที่มีการกรุผนังตกแต่งวัสดุที่มีน้ำหนักมาก

อิฐมวลเบา เลือกใช้ร่วมกับผนังภายในบ้าน ผนังห้องนอน ห้องนั่งเล่น และห้องอื่น ๆ กรณีผนังภายนอก จะเลือกใช้เฉพาะด้านที่ไม่โดนฝนสาดโดยตรงครับ หรือหากใช้ผนังภายนอกทั้งหมด จะเลือกอิฐมวลเบาที่มีความหนาตั้งแต่ 10 ซม. ขึ้นไป


ตัวอย่างอัตราส่วนการใช้งาน

กรณีบ้านชั้นเดียว หรือชั้นแรก แนะนำให้เลือกอิฐมอญเป็นหลัก เนื่องด้วยบ้านชั้นเดียวต้องสัมผัสกับความชื้นที่มาจากดิน เว้นแต่จะออกแบบบ้านยกสูงก็สามารถใช้อิฐมวลเบาได้

กรณีบ้าน 2 ชั้น ชั้นแรกยังคงแนะนำอิฐมอญ แต่ชั้น 2 ใช้อิฐมวลเบาเป็นหลัก ยกเว้นส่วนของห้องน้ำ ครัว ที่จะใช้อิฐมอญ ชั้น 3,4,5 ก็เช่นเดียวกันครับ เน้นใช้อิฐมวลเบาสำหรับผนัง ห้องน้ำเลือกใช้อิฐมอญเพื่อกันความชื้น


เทียบค่าใช้จ่าย

หากเทียบกันเฉพาะค่าวัสดุ อิฐมวลเบาแพงกว่าแน่นอนครับ แต่หากนำค่าวัสดุมาบวกกับค่าแรงช่าง ระหว่างอิฐมวลเบากับอิฐมอญก่อ 2 ชั้น มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกันมาก โดยเฉลี่ยแล้ว อิฐมวลเบาจะมีต้นทุน 360 – 400 บาท/ตร.ม. ขึ้นอยู่กับรุ่นและแบรนด์ ส่วนอิฐมอญก่อ 2 ชั้น เฉลี่ย 400 – 420 บาท/ตร.ม. ค่าใช้จ่ายที่ไม่ต่างกันมาก การเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะงาน จึงเป็นคำตอบที่สมดุลที่สุดครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้